EN TH
Knowledge & Articles

รายได้จากเงินปันผลกองทรัสต์ (REIT) กับวิธีการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา

01 March 2021


ต้นปี ชอบมีคำถามจากพี่ ๆ น้องๆ ว่า

  • เงินปันผลกองทรัสต์ (REIT) สำหรับบุคคลธรรมดาอย่างเรา ๆ สามารถเลือกวิธียื่นภาษีเงินปันผลได้ไหม แบบเอารายได้เงินปันผลรวมยื่นและเครดิตภาษีเงินปันผล หรือ เลือกเป็น Final Tax หักแล้วหักเลย
  • แล้วภาษีกองทรัสต์ (REIT) มันเหมือนหรือต่างกับพวกกองทุนรวม เช่น กอง Property Fund อย่างไร

เรามีคำตอบ

*** เงินปันผลกองทรัสต์ (REIT) เป็นเงินได้พึงประเมิน 40(4)ข เลือกได้ว่าจะยื่นภาษีปลายปีแบบเอารายได้เงินปันผลมารวมยื่น และเครดิตภาษีเงินปันผล หรือ ไม่เอามารวมยื่นแบบ Final Tax

*** ปัจจุบันกองทุนรวม ซึ่งกอง Property Fund เป็นหนึ่งในนั้นใช้วิธียื่นภาษีปลายปี เลือกยื่นได้แบบเดียวกับกองทรัสต์ (REIT)

*** กองทุนรวมทั้งหมดในปัจจุบัน เปลี่ยนจากเงินได้พึงประเมิน 40(8) มาเป็น 40(4)ข ตั้งแต่ 20 สิงหาคม 2562

เงินปันผลจากกองทรัสต์ (REIT) ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน 40(4)ข มาตั้งแต่ต้น ส่วนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกอง Property Fund แรกเริ่มเดิมที่เงินได้ประเภทนี้ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน 40(8) เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลง ตาม พ.ร.บ. ตราสารหนี้ปี 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 สิงหาคม 2562 ให้เป็นเงินได้พึงประเมิน 40(4)ข เหมือนกันกับกองทรัสต์ (REIT)

เพราะฉะนั้น สิทธิ์ที่เคยมีของกอง Property Fund จากที่เลือกให้ทางผู้จ่ายเงินได้ หัก หรือ ไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตั้งแต่ต้น ก็หมดไป ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หมด แต่เราสามารถเลือกได้ว่า จะนำเงินได้จากเงินปันผลนี้ไปรวมยื่นภาษีตอนปลายปีและใช้เครดิตภาษีเงินปันผล หรือ จะเลือกใช้ Final Tax หักแล้วหักเลยไม่ต้องนำมารวมยื่นตอนปลายปี

แต่ๆ หากได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในหลากหลายรูปแบบ สไตล์คนมีกะตัง ทั้งในกองทุนรวม หุ้น กองทรัสต์ (REIT) ที่ต้องระวังอย่างมากก็คือ ถ้าเลือกที่จะยืนภาษีเงินได้ปลายปี แบบเอารายได้เงินปันผลมารวมยื่น ก็จะต้องเอาทุกๆ เงินได้จากเงินปันผลทั้งหมดที่ลงทุนมารวมยื่นทั้งหมด จะเลือกเฉพาะบางอันมารวมยื่น บางอันเป็น Final Tax ไม่ได้

สิ่งที่ควรระวัง

ถ้าจะเลือกใช้วิธีการยื่นแบบไหน ก็ต้องเอาเงินปันผลจากการลงทุนทั้งหมด มายื่นเหมือนกัน อย่าลังเล อย่าหลายใจ ลองสังเกตุตรงหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายดูได้ ว่าเลือกช่องไหนของประเภทเงินได้ไว้

แนะนำ

ลองคำนวณภาษีดูก่อน ว่าแบบไหนจะเหมาะกับเรา ให้แน่ใจแล้วค่อยยื่น

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :

https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc689.pdf พ.ร.บ. ภาษีตราสารหนี้ 2562
https://www.rd.go.th/553.html เงินได้พึงประเมินมาตรา 40

กลับหน้ารวมบทความ